ครบรอบ 14 ปี “ลับ ลวง พราง” รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
19 กันยายน 2563 นี้ เป็นวันที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศจัดม็อบ จะเป็นวันครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร ในแบบฉบับลับ ลวง พราง
โดยการรัฐประหารดังกล่าว มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ แม้ประเทศไทยจะผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ความขัดแย้งในสังคมก็ยังคงดำรงอยู่
ภายในระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ต่างฝ่ายผลัดกันขึ้นมามีอำนาจ แต่ก็ไม่อาจสร้างความสมัครสมานสามัคคี ให้เกิดขึ้นกับคนในชาติได้
อีกทั้งในแง่ของความเจริญก้าวหน้า ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
หรือทว่า นี่คือราคาที่คนทั้งชาติต้องจ่ายร่วมกัน คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราจะออกจากความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร ?
1. ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
การเลือกตั้ง ปี 2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ได้สร้างปรากฏการณ์ทักษิณฟีเวอร์ ที่พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงถล่มทลาย นำ ส.ส. เข้าสภา 248 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งสิ้น 500 คน
ด้วยจำนวน ส.ส.เกือบครึ่งสภา ที่แทบจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เลย ทำให้รัฐบาลทักษิณมีอำนาจบริหารค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และมีเสถียรภาพสูงมาก จนเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ที่สามารถอยู่ได้ครบเทอม 4 ปี
ก่อนตอกย้ำให้ถึงเห็นความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นไปอีก ในการเลือกตั้ง ปี 2548 ที่ไทยรักไทย กวาดที่นั่ง ส.ส.ได้ถึง 377 คน คิดเป็น 75 % ของ ส.ส. ทั้งสภา
แต่ความแข็งแกร่งของรัฐบาลทักษิณ ก็ถูกท้าทาย จากการถือกำเนิดเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำ
1.1 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จุดเริ่มต้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ใช้เสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ โดยมี "มือตบ" เป็นไอเทมในการชุมนุม
ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในช่วงกันยายน ปี 2548 หลังจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถูกถอดออกจากผังของโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9)
ต่อมา สนธิ ลิ้มทองกุล พิธีกรและเจ้าของรายการ ก็ปรับรูปแบบเป็นเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร จัดรายการตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโจมตีรัฐบาล จนมีแฟนคลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งต้นปี 2549 จากกรณีตระกูลชินวัตรขายหุ้นทั้งหมดในกลุ่มบริษัทชินคอร์ป ให้กับบริษัทเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ รวมมูลค่ากว่า 73,000 ล้านบาท ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษี ก็ถูกหยิบยกมาโจมตีว่า เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน
แล้วกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 โดยมีกิจกรรมการชุมนุมโจมตีรัฐบาลทักษิณอย่างต่อเนื่อ
1.2 ยุบสภา เลือกตั้งใหม่
เมื่อกระแสการโจมตีรุนแรงขึ้น จึงมีการประกาศยุบสภา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549
แต่ 3 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้ประกาศคว่ำบาตร ไม่ส่งผู้สมัครลงสนาม
และแม้ผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคไทยรักไทยเป็นฝ่ายชนะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และให้เลือกตั้งใหม่กลางเดือนตุลาคม 2549
แต่ยังไม่ทันถึงวันเลือกตั้ง การรัฐประหารภายใต้กลยุทธ์ลับ ลวง พราง ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น เป็นหัวหน้าคณะ ก็เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ทหารก็แทบไม่เข้ามามีบทบาทในการเมืองอีกเลย และหลายคนเชื่อว่า การยึดอำนาจของ รสช. เมื่อปี 2534 ที่มี พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย
แต่แล้วท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้องให้ทักษิณลาออก กลางดึกวันที่ 19 กันยายน ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" หรือ "คมช."
โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะ คือคนที่ทักษิณเลือกให้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทำให้เขามั่นใจว่า บิ๊กบังไม่มีทางก่อการรัฐประหารอย่างแน่นอน
และด้วยกลยุทธ์ ลับ ลวง พราง ของ พล.อ.สนธิ กว่าทักษิณจะเริ่มระแคะระคาย ก็ล่วงเข้าไปช่วงเช้าของวันที่ 19 กันยายน ขณะที่ตัวเองประชุมอยู่ที่อเมริกา
กระทั่งมั่นใจว่า "โดนแน่ๆ" ก็ช่วงประมาณสี่ทุ่ม ทักษิณจึงได้ออกแถลงการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา เพื่อปลด พล.อ.สนธิ ออกจากตำแหน่ง
แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะในเวลานั้นคณะรัฐประหารได้ตรึงกำลังในสถานที่สำคัญไว้ได้ทั้งหมด ก่อนประกาศยึดอำนาจ เมื่อเวลาประมาณห้าทุ่ม
2.1 รัฐบาลขิงแก่
ในการรัฐประหารครั้งนั้น พล.อ.สนธิ กล่าวอย่างชัดเจนว่า ตัวเองจะไม่เป็นนายกฯ และได้เชิญ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยรัฐมนตรีส่วนใหญ่ใน ครม.ชุดดังกล่าวเป็นผู้สูงอายุ จึงได้รับฉายาว่า "รัฐบาลขิงแก่"
หลังจากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ขึ้นมา โดย พล.อ. สุรยุทธ์ ก็กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2550รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้มีการเปลี่ยนกติกาการเลือกตั้งให้ซับซ้อนขึ้น อีกทั้งได้มีการยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
แต่ในการเลือกตั้งปี 2550 พรรคพลังประชาชน (ไทยรักไทยเดิม) ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ก็ได้รับคะแนนนเสียงอย่างถล่มทลาย
ได้ ส.ส.ถึง 233 คน จากจำนวน ส.ส.ทั้งสิ้น 480 คน ทำให้พรรคพลังประชาชน เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และนายสมัคร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
3.1 สมัคร สมชาย พ้นตำแหน่งนายกฯ
ในวันที่ 9 กันยายน 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้วินิจฉัยให้นายสมัคร พ้นจากการเป็นนายกฯ เนื่องจากมีการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ จัดรายการทำอาหาร ขณะที่ตัวเองดำรงตำแหน่งนายกฯ
หลังจากนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ก็ได้รับเลือกจากสภาให้เป็นนายกฯ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้นายสมชายต้องพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551
3.2 อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
ต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับโหวตจากสภาให้เป็นนายกฯ
ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนั้นมีรายละเอียดที่ซับซ้อน หักเหลี่ยมเฉือนคมกันหลายชั้น จากการเดินเกมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ ประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น
และได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จนทำให้ ส.ส.กลุ่มหนึ่งของพลังประชาชนแปรพักตร์ ดันอภิสิทธิ์ถึงฝั่งฝัน เป็นนายกฯ คนที่ 27 ของประเทศ
4. ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ
ระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ ก็เกิดการชุมนุมต่อต้านของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ซึ่งจากการสลายการชุมนุมในปี 2553 ก็มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ต่อมาในปี 2554 นายอภิสิทธิ์ ก็ยุบสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้ง โดยผลที่ออกมาคือ พรรคเพื่อไทย (พลังประชาชนเดิม ไทยรักไทยเดิม) ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ได้ ส.ส. 265 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 คน
ส่งผลให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย ก่อนจะถูกรัฐประหาร โดย คสช. ที่มี.พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ในปี 2557
5. สังคมไทย ในความขัดแย้ง
ตลอด 14 ปี ที่ผ่านมา สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้ง มีการแบ่งขั้วความคิดทางการเมือง ที่การเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมถึงการรัฐประหาร ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย ตราบใดที่กฎกติกายังถูกมองว่า ไม่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ความขัดแย้ง ความเห็นต่าง จะเป็นสิ่งปกติในสังคมที่กติกาเป็นที่ยอมรับ แต่ถ้าคนส่วนหนึ่งมีความรู้สึกว่า ฝ่ายตนต้องเสียเปรียบอยู่ร่ำไป เพราะกติกาถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่าย
กติกาที่มีอยู่จึงไม่สามารถยุติปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ เพราะคนส่วนหนึ่งมองว่าไม่ชอบธรรม จึงไม่สามารถยุติได้ด้วยธรรม หรือมีความยุติธรรมให้กับทุกๆ ฝ่าย...ได้อย่างเท่าเทียม