เปิดตำนานบ้านพิษณุโลก บ้านประจำตำแหน่งนายกฯกับอาถรรพ์ที่ไม่มีใครกล้าอยู่!
สำหรับประวัติบ้านพิษณุโลก ชื่อเดิม คือ บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาลไทย ซึ่งมีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน โดยตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
โดยบ้านหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในปี 2465 บนที่ดินประมาณ 50 ไร่ในอำเภอดุสิต จ.พระนคร ที่มี มาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมื่อสร้างเสร็จ ทรงพระราชทานให้กับพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระกูลอนิรุทธเทวา ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติ เนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้ แต่ได้รับการปฏิเสธ พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวได้ย้ายออกไปอยู่จ.นนทบุรี
ต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บ้านบ้านบรรทมสินธุ์ เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการร่วมรบกับญี่ปุ่น และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวา เพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านหลังนี้ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
โดยพระยาอนิรุทธเทวา ได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาท เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2485 รัฐบาลได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ "กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น" สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทย-พันธมิตร"
รัฐบาลยุคต่อมาได้ปรับปรุงบ้านพิษณุโลก เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2522 แล้วเสร็จในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 โดยพล.อ.เปรม ได้ย้ายเข้าไปพัก เพียง 2 วัน แต่บางกระเเส ก็ว่าอยู่ได้ 7 วัน แล้วย้ายออกไปพักที่บ้านพักเดิม คือ บ้านสี่เสาเทเวศร์
ในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้บ้านหลังนี้ เป็นที่ทำการของคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยเรียกกันติดปากสื่อมวลชนว่า ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก แต่ไม่ได้มีการใช้เป็นที่พัก
สมัยของ นายอานันท์ ปันยารชุน ก็แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปอยู่ ส่วนยุค นายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จนมาถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีรายงานว่าใช้งบประมาณกว่า 8 ล้านบาท ในการบูรณะซ่อมแซม และยังใช้เป็นสถานที่ประชุมลับ เพื่อเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทด้วย
จากนั้นยุคนายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกหลังนี้ และอยู่ได้นานทั้ง 2 สมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พอเข้าสู่ยุคนายทักษิณ ชินวัตร เข้าเป็นนายกฯ บ้านหลังนี้ถูกใช้รับรองแขกต่างชาติ และมีการแวะเวียนของบุคคลกลุ่มต่างๆ เข้ามาหา
ต่อมายุคของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) บ้านหลังนี้ก็ไม่ค่อยถูกใช้งาน เพราะมีการประชุมในค่ายทหารแทน ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ค่อยมีเวลาใช้ เนื่องจากปัญหาม็อบรุมเร้า ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้เป็นเพียงที่รับรองแขกจากต่างประเทศ สุดท้ายมาถึงคิวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ค่อยได้ใช้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซมอยู่ทั้งนี้ แต่กิตติศัพท์เรื่องความอาถรรพ์นี้ ก็ได้รับการตอกย้ำ จนไม่มีนายกฯ คนใดย้ายเข้าไปพักอย่างเป็นทางการ แม้แต่ พล.อ.ชาติชาย ที่ใช้บ้านหลังนี้เป็นที่รับแขกเท่านั้น มีเพียงนายชวน ที่มาอยู่ เพราะบ้านพักในซอยหมอเหล็งค่อนข้างเล็กและคับแคบ โดยใช้โซฟาในห้องทำงาน ซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน ไม่ได้มีการใช้เตียงนอนภายในห้องนอนของบ้านแต่อย่างใด เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าของบ้าน
บ้านหลังนี้จะมีรูปปั้น นารายร์บรรทมสินธุ์ อยู่หน้าบ้าน ใครมาใช้เมื่อไหร่ก็อยู่ไม่นานซักคน ไม่ยุบก็โดนไล่ บางท่านว่าควรเปลี่ยนชื่อบ้าน เพราะเรียกว่าบ้านพิษฯ จนติดปากไม่เป็นมงคล อีกอย่างชื่อบ้านแสดงถึงเทวาลัย คือ เกษียรสมุทร มีพญานาควาสุกินอนอยู่ ไม่ใช่ที่อยู่ของมนุษย์ ไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง เพราะสิ่งเก่าแก่โบราณล้วนย่อมมีเจ้าของปกปักรักษา ซึ่งเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล
ตามข้อเท็จจริงบ้านพิษณุโลกนั้นเรื่องภูติผี ไม่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ข้างในเลยว่ามีจริง แต่เรื่องเล่าส่วนมากจะมาจากผู้ที่เป็นนายกฯ และผู้ใกล้ชิดมากกว่าว่าเจ้าที่แรง อยู่ไม่ได้ แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในละแวกนั้นเล่าว่า... วันดีคืนดีก็บอกว่าได้ยินเสียงม้าร้องกึกกัก ซึ่งบริเวณบ้านจะมีรูปปั้นม้าอยู่ด้วย อีกอย่างกรณีบ้านพิษณุโลกไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้พิสูจน์ความเฮี้ยน เว้นแต่จะต้องเป็นนายกฯ ถึงจะมีสิทธิ์ได้ทดสอบ