สารคดีประวัติศาสตร์ ‘ในหลวง’ ขณะทรงศึกษาทหารดันทรูน
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯไปทอดพระเนตรวีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงศึกษาในเครือรัฐออสเตรเลีย ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เพราะชุดวีดิทัศน์เหล่านี้ไม่เคยเผยแพร่ต่อสาธารณะมาก่อน ทั้งในประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย ที่สำคัญเป็นวีดิทัศน์ที่ภาพคมชัดและให้เสียงชัดเจน ทำให้ผู้ที่ได้รับชม ต่างรู้สึกคิดถึงและปลื้มปีติเป็นล้นพ้น
อย่างวีดิทัศน์ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นพระราชอาคันตุกะพระองค์แรกเสด็จฯ เยือนออสเตรเลีย และมีพระราชดำรัสในงานเลี้ยงต้อนรับ ท่ามกลางผู้สำเร็จราชการฯ ออสเตรเลีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของออสเตรเลียที่มาร่วมงาน
ครั้งนั้น ในหลวง รัชกาลที่ 9 และพระราชินี เสด็จฯเยือนออสเตรเลียเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ ทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯไปทุกรัฐของออสเตรเลีย ซึ่งท่านเอกอัครราชทูตเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุให้ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงเลือกศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย ในเวลาต่อมา
วีดิทัศน์ยังบอกเล่าพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเข้ารับการฝึกฐานต่างๆ ด้านการทหาร เช่น ทรงปีนกำแพงตาข่ายเชือก ทรงปีนกำแพงสูง ซึ่งต้องอาศัยความแข็งแรงของพระวรกาย พระราชหฤทัยที่ตั้งมั่นอดทน และความสามัคคีของทีม ซึ่งได้รับการชื่นชมจากพระสหายร่วมชั้นเรียน เช่น ฯพณฯ พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการฯ ออสเตรเลีย คนปัจจุบัน, ฯพณฯ พลเอก เซอร์ ปีเตอร์ คอสโกรฟ อดีตผู้สำเร็จราชการฯ ออสเตรเลีย ถูกเชิญมาเปิดมุมมองในสารคดีนี้ด้วย
พระสหายหลายคนต่างตื่นเต้นที่มี "มกุฎราชกุมาร" ต่างประเทศมาร่วมเรียนด้วย แต่ก็ได้รับการปฏิบัติต่อพระองค์ เสมือนเพื่อนนักเรียนทหารทั่วไป
"ทรงประทับที่วิทยาลัยช่วงกลางวัน และเสด็จฯไปสถานทูตไทยประจำออสเตรเลีย ช่วงกลางคืน เพื่อทรงร่วมงานเลี้ยง หรือกิจกรรมต่างๆ ที่แตกต่างกันอย่างมาก พระองค์ทรงเป็นนักเรียนนายร้อย แต่เมื่อทรงก้าวย่างออกจากดันทรูนไปสู่ชุมชนชาวไทย ก็ทรงมีสายสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ส่วนพระสหายไม่ต้องทำเช่นนั้น ไม่ต้องปรับเปลี่ยนดั่งเช่นพระองค์ คิดว่าสิ่งนั้นคือความท้าทายอันยิ่งใหญ่" พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย คนปัจจุบัน กล่าวในสารคดี
"สิ่งที่ประทับใจผมมากคือ ทรงสนพระราชหฤทัยด้านศิลปะ โดยเฉพาะดนตรี สมเด็จพระบรมชนกนาถ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงเป็นนักดนตรีที่ยอดเยี่ยม พวกเราจะนั่งฟังพระองค์ทรงดนตรี นั่นเป็นสิ่งที่เราทั้ง 2 ฝ่ายรักและไม่เคยลืม ผมมักจะบอกกับเพื่อนๆ ว่า พระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง และจะทรงมีความมั่นใจตามแบบกองทัพ เพราะทรงได้รับการฝึกฝนจากดันทรูน" สาธุคุณอาร์เธอร์ บริดจ์ บาทหลวงและอดีตพระสหายร่วมชั้นเรียน กล่าวในสารคดี
เป็นเวลา 4 ปีแสนทรหด ในวิทยาลัยนายร้อยทหารบกที่มีชื่อเสียง ได้สร้างนักเรียนนายร้อยที่แข็งแกร่ง ในวันสำเร็จการศึกษา ท่ามกลางพ่อแม่พี่น้องและญาตินักเรียนนายร้อย ที่มาร่วมแสดงความยินดี
ครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯไปทรงแสดงความยินดีด้วย ท่ามกลางการเดินสวนสนาม ตั้งแถวที่แข็งแกร่งด้วยระเบียบวินัย สง่างาม ก่อนทรงเป็นทหารประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ในนครเพิร์ธ ซึ่งนับเป็นกองปฏิบัติการทางการทหารชั้นนำของออสเตรเลีย
นายอัลลันกล่าวอีกว่า ตอนแรกสารคดีทำเป็นภาคภาษาไทย แต่ภายหลังทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตร ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า พระสหายพูดเป็นภาษาอังกฤษ อาจด้วยทรงอยากฟังเสียงของพระสหาย และบรรยากาศที่ทรงประสบด้วยพระองค์เอง เราจึงทำสารคดีเป็นภาคภาษาอังกฤษเพิ่มเติม และนำมาฉายในงานพิธีที่พระองค์ และพระราชินี เสด็จฯ ทอดพระเนตร
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระทัยมากกับสารคดีดังกล่าว ทรงมีพระราชดำรัสกับผมว่า ได้ทอดพระเนตรสารคดีนี้หลายครั้ง" นายอัลลันกล่าวด้วยน้ำเสียงประทับใจ
"ภายหลังพิธี มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยหลายคนเดินมาขอบคุณกับผมว่า สารคดีนี้ทำให้เขาได้ทราบประวัติศาสตร์ลึกซึ้งขึ้น จากที่ทราบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ก็เชื่อว่านี่จะเป็นคะแนนทางการทูตให้สถานเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทยต่อไป เสริมสร้างความสัมพันธ์ทั้ง 2 ประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และจะนำสารคดีและพระบรมฉายาลักษณ์นี้ มาจัดแสดงอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียครบรอบ 70 ปี ในปี 2565 ต่อไป" นายอัลลันกล่าวทิ้งท้าย