การใช้คำว่า “สัตว์”ในวัฒนธรรมด่าไทยร่วมสมัย


การใช้คำว่า “สัตว์”ในวัฒนธรรมด่าไทยร่วมสมัย

ในบรรดาวัฒนธรรมทั้งปวง ภาษาคืออีกหนึ่งเครื่องมือในหมวดการสื่อสารในสังคมมนุษย์ที่มีพัฒนาการยาวนานต่อเนื่องมากเป็นอันดับต้นๆ การให้ความหมายกับคำในแง่การสื่อสารรูปแบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกาลเวลา คำหนึ่งอาจถูกใช้งานรูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป คำเดียวกันนั้นอาจเปลี่ยนสถานะและความหมายไปก็ได้

ปฏิเสธได้ยากว่า วัฒนธรรมภาษาแบบไทยร่วมสมัยยุคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมากเช่นกัน หากมองย้อนไปในอดีต วัฒนธรรมคำด่าในไทยล้วนแปรผันไปตามกาลเวลา มีทั้งคำใหม่ซึ่งจางหายไปตามกาลเวลา หรือคำใหม่ที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยสามัญชนตามยุคสมัย ไปจนถึงคำเก่าดั้งเดิมที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องวัฒนธรรมคำด่านี้ องค์ บรรจุน นักเขียนผู้ศึกษาด้านวัฒนธรรมมอญเคยรวบรวมไว้ในบทความ "วัฒนธรรมคำด่า" เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558 องค์ บรรจุน อธิบายเรื่องการใช้ภาษาของมนุษย์ไว้ว่า

"มนุษย์ใช้การส่งสารผ่านวัจนภาษาและอวัจนภาษา เพื่อสื่อความปรารถนา ถ่ายทอดความรู้สึก แน่นอนว่าภาษาทั้ง 2 แบบมีลักษณะที่แสดงถึงความสบอารมณ์อยู่ด้วย ส่งผ่านข้อเขียนน้ำเสียงตลอดจนอากัปกิริยาสายตาท่าทางที่ต้องการสื่ออารมณ์เฉียบพลัน ท่ามกลางที่ประชุมชนของแต่ละชาติภาษาคงไม่ต้องการให้มีถ้อยคำหยาบคาย แต่คงไม่อาจเลี่ยงการมีอยู่ของคำเหล่านี้"

บทความขององค์ บรรจุน ยกกรณีศึกษาเกี่ยวกับคำบริภาษหรือคำด่าของชนชาติมอญ อันเป็นการด่าให้แสบไส้อย่างมอญ ที่นับเป็นวัฒนธรรม (Way of Life) อย่างหนึ่ง

ตามความคิดเห็นขององค์ บรรจุน เขามองว่า ทุกชนชาติย่อมมีคำบริภาษที่ทำให้ผู้ฟังไม่พอใจกันทุกชนชาติ ประเด็นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคือ ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงเชื่อว่ามันจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถเปลี่ยนถ่ายไฟอารมณ์โหมกระพือจากผู้ด่าไปคุโชนสุมรุมผู้ถูกด่าแทนได้

แม้ทุกชนชาติจะมีคำด่า อย่างไรก็ตาม องค์ บรรจุน ไม่เชื่อว่า หากนำคำด่าซึ่งคนชาติหนึ่งด่ากัน แล้วไปใช้ด่าคนอีกชาติหนึ่งจะให้ความรู้สึกเจ็บแสบอย่างเดียวกันได้ องค์ บรรจุน มองว่า

"แม้กระทั่งการเรียนรู้ภาษาอื่นในภายหลังที่ไม่ใช่ภาษาแม่ (Mother Tongue) คนจำนวนมากก็มักจดจำคำด่าได้ก่อนคำศัพท์ประเภทอื่นโดยไม่ต้องผ่านการสอนอย่างเข้มงวด มิหนำซ้ำยังเรียนรู้ไว มีพัฒนาการ จนสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

อย่างไรก็ตาม คำสุภาพหรือคำอย่างสามัญในยุคสมัยหนึ่ง ผู้คนอีกยุคสมัยหนึ่งก็อาจมองว่าไม่สุภาพได้ เช่น กู มึง แต่ก็ใช่ว่าผู้คนในยุคสมัยที่ตกลงรับรู้กันแล้วจะไม่ใช้คำไม่สุภาพนั้น"

เท่าที่รวบรวมข้อมูลจากสังคมไทยสมัยเก่า คำด่าแบบน่ารักน่าเอ็นดูก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น สันขวาน หอกหัก บ้าบิ่น

สำหรับคำด่าแบบไทยร่วมสมัยนิยมยกเอา "สัตว์" ไม่ประเสริฐหลายชนิดมาใช้เทียบเคียงในการด่ากัน ระดับการเจ็บแสบต่างกัน และบางคำยังผูกโยงกับเพศด้วย

องค์ บรรจุน อธิบายไว้ว่า

"สำหรับเพศชาย ว่ากันตั้งแต่ "ควาย" สัตว์สี่เท้าช่วยงานมนุษย์ที่ไม่เคยขี้รดหัวใคร นอกจากเติมปุ๋ยข้าวกล้าในนาไร่ รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานที่นักธรรมชาติวิทยาระบุว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมที่ "เหี้ย" อาศัยอยู่ แค่ชื่นชอบที่จะลากอาหารของคนอื่นไปกินในน้ำเท่านั้น

หากเพศชายด้วยกันด่ากันเองก็มักมอบของส่วนตัวที่มีเหมือนๆ กันให้ไปดูต่างหน้า นั่นคือ "กล้วย" แต่ถ้าจะแฝงความหมายถึงความขลาดแล้วก็ต้อง "ไอ้หน้าตัวเมีย" ซึ่งคำนี้เองผู้ชายที่ถูกผู้ชายด้วยกันด่าก็จะเจ็บแสบประมาณหนึ่ง แต่ถ้าคนด่าเป็นผู้หญิงแล้วจะถึงกับปวดแสบปวดร้อนเลยทีเดียว ทำนองเดียวกับ "แรด" หากผู้ชายด่าผู้หญิงระดับความแสบร้อนจะสูงกว่าผู้หญิงด่าผู้หญิงหรือผู้หญิงด่าผู้ชายทบเท่าทวีคูณ

ในเพศหญิง นิยมด่าคนที่สร้างความขุ่นเคืองเทียบกับดอกไม้ชั้นสูงที่ทำจากเหล่าสุวรรณกาญจนา นั่นคือ "ดอกทอง" หากเป็นสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีอยู่คำหนึ่งนั่นคือ "สำเพ็ง" ถึงแม้จะเป็นย่านการค้าขายของคนจีน แต่ก็มีการทำธุรกิจส่วนตัวของผู้หญิงด้วย คนที่โดนด่าจึงเท่ากับถูกเปรียบเปรยว่าเป็นโสเภณี

ติดตามมาด้วยคำด่ายุคเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกที่มีความหมายคล้ายกันคือ "ช็อกการี"

ส่วนคำที่ผู้หญิงนิยมด่าผู้หญิงด้วยกันรวมทั้งด่าผู้ชาย (ชายอกสามศอกทั่วไปคงไม่ใช้ด่าใคร นอกจากผู้ชายสีชมพู) นั่นคือ "หน้า ห. สระอี" ความเจ็บแสบคงอยู่ที่การให้ความหมายแบบสะท้อนกลับ ในเมื่อ ห. สระอี เป็นของที่ผู้ชายโดยมากปรารถนา แต่กลับมีทัศนคติเกี่ยวกับสิ่งนั้น เหมารวมถึง ประจำเดือน ตลอดจนผ้าถุงผู้หญิงเป็นของต่ำ ใครมีของดีของขลังเจอผ้าถุงหรือระดูของผู้หญิงเข้าก็ถึงกับเสื่อมถอย เมื่อผู้ชายเป็นคนตั้งมาตรฐาน ห. สระอี ให้ผู้หญิงเป็นของต่ำ ผู้หญิงก็เอาคำนี้ไว้ด่าผู้ชาย ผมเห็นผู้ชายรายไหนรายนั้น เป็นฟืนเป็นไฟหัวฟัดหัวเหวี่ยง

หากสำรวจในภาษาร่วมสมัย ไม่เพียงแค่การใช้คำเรียกชนิดของ "สัตว์" มาเป็นคำด่า แม้แต่คำว่า "สัตว์" ยังถูกใช้เป็นคำด่า "มนุษย์" ด้วยกันเอง สื่อสารความหมายในทำนอง "ด้อยค่า" บุคคลนั้นโดยนำ "มนุษย์" ที่ถือว่าเป็นสัตว์ซึ่งมีพัฒนาการทางกายภาพสามารถยืนและเคลื่อนไหวในลักษณะสันหลังตั้งฉากกับพื้นแล้ว อีกทั้งมีพัฒนาการทางสติปัญญาในระดับสามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะด้วยเหตุผลได้ ไปเทียบเคียงกับ "ความเป็นสัตว์" ในแง่หมายถึงสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีพด้วย "สัญชาติญาณ" เพื่อ "เอาตัวรอด"

อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาและบริบทเปลี่ยนแปลงไป คำด่าบางคำกลับไม่ได้สื่อสารในแง่การด่าว่าผู้ฟังอีกแล้ว หากแต่กลายเป็นคำอุทาน หรือคำซึ่งทำหน้าที่ส่วนต่อขยายและถูกใช้เพื่อแสดงระดับความเข้มข้นด้านอารมณ์ของผู้ใช้คำมากกว่าใช้เพื่อบริภาษผู้อื่น ซึ่งในแง่นี้ ผู้ได้ยินคำคำนั้นกลับจะไม่ได้รู้สึกถูกกระทบกระทั่งด้วยซ้ำ ผู้ฟังย่อมรับรู้ความเข้มข้นของอารมณ์ผู้ใช้คำโดยขึ้นอยู่กับบริบทสถานการณ์ต่างๆ บางครั้งใช้เป็นคำด่า บางครั้งใช้อุทานแสดงอารมณ์ บางครั้งการใช้คำยังทำให้เกิด "ความรู้สึกแง่บวก" ร่วมกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังก็ได้ด้วยซ้ำไป

ทั้งนี้ หากจะพูดถึงหลักฐานเกี่ยวกับคำด่าแบบโบราณ ในเอกสาร "พระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน" ซึ่งในตัวเนื้อหาระบุว่า ตราขึ้นเมื่อ "มหาศักราช 1369" อันเป็นกฎหมายโบราณเกี่ยวกับลักษณะการวิวาททำร้ายกัน หมิ่นประมาท ด่ากัน ตีกัน มีเนื้อหา 46 ลักษณะ (มาตรา)

ในข้อ 36 ระบุถึงคำด่าที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ขี้, ไอ้ และ อี (อี่) ได้แก่

ไอ้อี่ขี้ตรุ ขี้เมา ขี้ขโมย ขี้ช่อ

ขี้ฉกลัก ขี้ลวงคนฃาย ขี้โซ่ขี้ตรวน ขี้ขื่อขี้ ขี้ถอง ขี้ทุบ ขี้ตบ ขี้คุก ขี้เค้า ขี้ประจานคนเสีย ขี้ฃายคนกินทังโคด

ขี้ครอก ขี้ข้า ขี้ถ้อย

ไอ้อี่คนเสีย คนกระยาจก คนอัประหลัก คนบ้า คนใบ้

ไอ้/อี่สับปลับอี่มัก

ชู้/ผัวมึงทำชู้เหนือผัวกูก็ดี

อี่แสนหกแสนขี้จาบ อี่ดอกทอง อี่เยดซ้อน

ตอนท้ายข้อระบุว่า

...สรรพด่ากันแต่ตัวประการใด ๆ ให้ปรับไหมโดยยศถาศักดิลาหนึ่ง ถ้าด่าถึงโคตเค้าเถ้าแก่ ให้ไหมทวีคูน

จะเห็นได้ว่า คำที่ปรากฏในเอกสารโบราณนั้น ไม่มีคำที่เป็นชื่อ "สัตว์ไม่ประเสริฐ" หรือคำว่า "สัตว์" รวมอยู่ด้วย ขณะที่บางคำยังพอหลงเหลือให้ได้ยินในปัจจุบันอยู่บ้าง แต่บางคำก็ไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว

วัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ลักษณะสภาพสังคมในยุคนั้นได้ คำบริภาษภายใต้เจตนาแบบใดก็ตาม ไม่ว่าจะด่ากันแบบเจตนาด่าจริงๆ หรือใช้ "คำด่า" เพื่อเป็นตัวช่วย ส่วนขยายหรือยกระดับอารมณ์ขึ้น โดยไม่ได้มีเจตนาด่าตัวผู้ฟังจริงๆ แต่อย่างใด เหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและลักษณะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารของคนยุคนั้นได้

อ้างอิง:

200 ปี กฎหมายตราสามดวง. ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2547.

"คนโบราณเค้าด่ากันอย่างไร ดูคำด่าเจ็บแสบของยุค และคำด่าอมตะที่ใช้ถึงวันนี้". ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 25 ตุลาคม 2561. เข้าถึงเมื่อ 30 เมษายน 2564.
สุเมธ จานประดับ และคณะ. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก.

องค์ บรรจุน. "วัฒนธรรมคำด่า", ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2558.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2564

เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์