ความหมาย ‘พระเกี้ยว’ ตราแห่งความภูมิใจ ของนิสิตจุฬาฯ


ความหมาย ‘พระเกี้ยว’ ตราแห่งความภูมิใจ ของนิสิตจุฬาฯ


ความหมายของพระเกี้ยว ตราสัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอีกมากมาย มีที่มาและความหมายอย่างไร

พระเกี้ยว เป็นหนึ่งในเครื่องหมายสำคัญ ซึ่งถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษาหลากหลายสถาบันมากมาย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และโรงเรียนต่างๆ อาทิ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ โรงเรียนหอวัง โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โรงเรียนสวนกุหลาบ และอีกมากมายกว่า 20 สถาบัน

การที่พระเกี้ยวนั้นถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายประจำสถาบันการศึกษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน สามารถนำตราสัญลักษณ์นี้มาใช้เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน และเมื่อโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมหาดเล็ก ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียนได้

ต่อมาหลังจากโรงเรียนมหาดเล็กเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนข้าราชการฯ ในลำดับถัดไป

โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับการสถาปนาขึ้น และเปลี่ยนเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังคงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน

ความหมายของตราสัญลักษณ์พระเกี้ยว
ข้อมูลจากเว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "พระเกี้ยว" เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว แปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือเครื่องสวมจุก, ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า "จุฬาลงกรณ์" ที่แปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือจุลมงกุฎ และคำว่า "จุลมงกุฎ" หมายถึง พระราชโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ หรือ พระจอมเกล้าน้อย ที่เกี่ยวโยงถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามาภิไธยเดิม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ

พระเกี้ยว จึงกลายเป็นตราสัญลักษณ์ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นความภาคภูมิใจของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานตราสัญลักษณ์นี้ มาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์

โดยพระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยวที่มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532

นอกจากนี้โรงเรียนที่สังกัดอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนดให้นักเรียนชายใช้พระเกี้ยวทอง นักเรียนหญิงใช้พระเกี้ยวเงิน ซึ่งเครื่องหมายพระเกี้ยวเป็นตราประจำพระองค์อันมีที่มาจากพระนามว่า "จุลจอมเกล้า" แห่งองค์พระผู้พระราชทานกำเนิดการศึกษาของไทย


เครดิตแหล่งข้อมูล :จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เตรียมอุดมศึกษา

ภาพ :
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์