สืบจากศพ เคส “ไส้ติ่ง” พลิกวงการแพทย์ เมื่อ 300 ปีก่อน!


สืบจากศพ เคส “ไส้ติ่ง” พลิกวงการแพทย์ เมื่อ 300 ปีก่อน!


ชายชราชาวอิตาลีคนหนึ่งปวดท้องต่อเนื่องหลายวัน และมีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงตัดสินใจรุดไปพบแพทย์ประจำเมือง แต่ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันในคืนวันถัดมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1705 ในยุคที่วงการแพทย์ทั่วโลกยังไม่รู้จักโรคจาก ไส้ติ่ง หรืออาการไส้ติ่งอักเสบ ความรู้ชุดนี้ยังไม่เคยถูกบรรจุไว้ในตำราแพทย์ฉบับใด ๆ แต่การผ่าศพชายสูงวัยผู้นี้โดยแพทย์หนุ่มคนหนึ่งได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ และพลิกวงการแพทย์ไปตลอดกาล

ค.ศ. 1705 (พ.ศ. 2248) ตรงกับสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคแตกต่างจากการแพทย์สมัยใหม่ที่เรารู้จักอย่างสิ้นเชิง คนไทยสมัยอยุธยายังเข้าใจเรื่องโรคในแง่ผีสางหรือเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่ ขณะที่วงการแพทย์ยุโรปมองโรคต่าง ๆ ที่เกิดว่าเป็นผลมาจากความแปรปรวนหรือไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย คือของเหลวต่าง ๆ โดยเฉพาะเลือด...

ณ เมืองโบโลญญา อิตาลี ในโรงพยาบาลที่ชายชราคนดังกล่าวเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา จิโอวานนี บัตติสตา มอร์กานญี (Giovanni Battista Morgagni) หมอหนุ่มชาวอิตาลีวัย 23 ปี (ต่อไปขอกล่าวถึงแบบสั้น ๆ ว่า "หมอมอร์กานญี") รับหน้าที่ผ่าศพของชายคนนั้น ซึ่งการผ่าศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพื่อศึกษาอวัยวะภายใน เป็นกิจวัตรหลักของเขาในการเก็บประสบการณ์

หมอมอร์กานญีโชคดีที่มีชีวิตอยู่ในยุคหลังการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และยุคเรืองปัญญาของยุโรป ผู้คนตั้งคำถามต่อภูมิความรู้ดั้งเดิมที่ครอบด้วยกรอบศาสนาอย่างเปิดเผย และใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจโลกมากขึ้น วงการย์แพทย์ในช่วงเวลานั้นเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่คนจำนวนมากตั้งคำถามต่อวิชาแพทย์แบบโบราณของหมอรุ่นปฐมาจารย์ซึ่งเชื่อถือตามกันมานับพันปี

ที่สำคัญคือ หมอมอร์กานญี เป็นลูกศิษย์ของ อันโนนิโอ มารียา วัลซัลวา (Antonio Maria Valsalva) อาจารย์หมอที่ได้ชื่อว่า "หัวใหม่" ที่สุดในช่วงเวลานั้น...





สืบจากศพ เคส “ไส้ติ่ง” พลิกวงการแพทย์ เมื่อ 300 ปีก่อน!

จิโอวานนี บัตติสตา มอร์กานญี (ภาพโดย Jacek Halicki ใน Wellcome Library สิทธิ์การใช้งาน CC BY 4.0)

ความจริงอันยิ่งใหญ่ใน "ไส้ติ่ง"

เมื่อหมอมอร์กานญีลงมีดกรีดทะลุช่องท้องของชายชราที่ไร้ชีวิต ลมเหม็นเน่ารุนแรงอัดแน่นอยู่ในช่องท้องของเขาก็พวยพุ่งฟุ้งกระจายไปทั่ว ยิ่งหมอมอร์กานญีผ่าเปิดช่องท้องให้กว้างขึ้น ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือ "หนอง" ที่กระจายอยู่ทั่วช่องท้องของชายผู้น่าสงสาร

ด้วยความสงสัยใคร่รู้ตามประสาหมอรุ่นใหม่ไฟแรง มอร์กานญีพยายามตามหาจุดกำเนิดของหนองทั้งหมด เขาพบว่ามันกระจุกตัวในปริมาณมากบริเวณช่องท้องด้านล่างขวา แถมหนองพวกนี้ยังเกาะกันจนแข็งเป็นก้อนแปะหนึบอยู่กับกล้ามเนื้อใกล้ ๆ กัน หมอมอร์กานญีจึงมั่นใจว่าแหล่งกำเนิดของหนองทั้งหมดมาจากส่วนเล็ก ๆ ของลำไส้ที่เรียกว่า "ไส้ติ่ง" (appendix)

ใช่แล้ว หมอมอร์กานญี คือแพทย์ผู้ค้นพบโรค ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) อย่างไม่รู้ตัว...



สืบจากศพ เคส “ไส้ติ่ง” พลิกวงการแพทย์ เมื่อ 300 ปีก่อน!

ที่ต้องบอกว่า "ไม่รู้ตัว" เพราะตอนแรกหมอมอร์กานญีไม่เข้าใจสิ่งที่เห็นตรงหน้าด้วยซ้ำ เขาไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุของหนอง ทราบเพียงมันน่าจะมาจากตำแหน่ง ไส้ติ่ง ความกระจ่างชัดที่สุดที่เขาได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ มีหนองส่วนหนึ่งติดอยู่กับกล้ามเนื้อชื่อว่า Iliopsoas (อ่านว่า อิ-ลิ-โอ-โซ-แอส) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการก้าวขา และหนองทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้อักเสบอย่างรุนแรง

ข้อมูลส่วนนี้สำคัญมาก เพราะมันดันไปตรงกับอาการของชายชราที่เดินทิ้งน้ำหนักขาซ้ายมากกว่าปกติมาร่วมเดือนตอนยังมีชีวิต ซึ่งเพื่อน ๆ ของเขาสังเกตเห็นความผิดปกติ และมีการพูดถึงอาการนี้ แต่เจ้าตัวไม่ได้สนใจ อาจเพราะเชื่อว่าเป็นอาการทางกระดูกจากอายุที่มากขึ้นของเขาเอง

ถึงตรงนี้ขอพาย้อนกลับไปดูอาการของโรค ประวัติการเจ็บป่วย และผลการตรวจร่างกายของชายชราก่อนเสียชีวิตอีกครั้ง อันจะเป็นข้อมูลที่มีส่วนสำคัญต่อการปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดในเคสนี้ของหมอมอร์กานญี ดังนี้

ชายชาวอิตาลีคนนี้ อายุ 74 ปี รูปร่างผอม ชอบดื่มไวน์ เดินกะเผลกแบบทิ้งน้ำหนักขาซ้ายมากกว่าปกติมา 1 เดือน ปวดท้องมา 2 สัปดาห์ 1 วันก่อนพบแพทย์มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หน้าแดงกว่าปกติ วันที่เข้าหาแพทย์มีอาการปวดบริเวณท้องน้อยรุนแรงขึ้น มีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย

เขาบรรยายถึงการปวดท้องว่า "ปวดแน่น ๆ ลึก ๆ เหมือนโดนหมาขบ" แพทย์ประจำโรงพยาบาลพบว่า ชายชรามีอาการตาโหล ลิ้นแห้ง บ่งชี้ว่าร่างกายขาดน้ำ ชีพจรเต้นเบาและเร็ว เมื่อหมอกดบริเวณท้องน้อยด้านขวาคลำพบก้อนบางอย่าง...

หากแพทย์-พยาบาลสมัยใหม่ เห็นข้อมูลเหล่านี้ แทบจะฟันธงได้ทันทีว่านี่คืออาการ "ไส้ติ่งอักเสบ" แต่ ณ ตอนนั้นไม่มีใครวินิจฉัยเรื่องนี้ได้

วิธีที่หมอใช้ในการรักษาคือ การหลั่งเลือด (Blood letting) จำนวน 7 ออนซ์ ตามหลักการสร้างสมดุลธาตุในร่างกาย ก่อนจะพบว่าเลือดของผู้ป่วยแข็งตัวเร็วกว่าปกติ มีแผ่นบางสีเหลืองเคลือบด้านบน ในคืนนั้น ชายชรามีอาการชักหลายครั้งและปัสสาวะน้อยลง เช้าวันต่อมา เขามีท้องป่องและตึงอย่างเห็นได้ชัด ชีพจรอ่อนลงเรื่อย ๆ อาเจียนมีกลิ่นรุนแรงหลายครั้ง หายใจแรง และประสาทสัมผัสต่าง ๆ เลือนราง กลางดึกคืนนั้นเขาหายใจเฮือกใหญ่ก่อนจะสิ้นลม

กลับมาที่หมอมอร์กานญี จากข้อมูลผู้ป่วยและปฏิบัติการผ่าศพ ทำให้เขาตั้งสมมติฐานว่า โรคต่าง ๆ ที่เกิดแก่ร่างกายมนุษย์นั้นจำกัดอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเท่านั้น คือ สามารถอธิบายหรือหาสาเหตุเฉพาะจุดได้โดยไม่ต้องอ้างอิงสมดุลของร่างกายเลย

กรณีของชายผู้นี้ จะเห็นว่าต้นเหตุของอาการทั้งหมดเริ่มจาก ไส้ติ่ง ตั้งแต่อาการปวดท้องน้อยด้านขวา การเดินขาลากเพราะกล้ามเนื้อสำคัญติดหนอง การอาเจียนที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรงเพราะลำไส้ใหญ่เกิดการอุดตัน อาหารที่ย่อยสลายจึงย้อนกลับมาออกทางเข้า ส่วนแผ่นสีเหลืองที่ติดอยู่กับเลือดที่ถูกขับคือ "เม็ดเลือดขาว" ซึ่งเพิ่มขึ้นเพราะร่างกายติดเชื้อนั่นเอง

หมอหนุ่มจึงเอาเคสนี้ไปปรึกษาอาจารย์ เสนอให้ปรับระบบการจดบันทึกหลังการผ่าศพให้เป็นประโยชน์แก่การรักษามากกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่การพูดคุยถึงอาการของผู้ป่วยให้มากขึ้น สอบถามอาการตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนถึงช่วงที่อาการรุนแรง จดบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นระหว่างการผ่าศพอย่างละเอียด นำข้อมูลของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังเสียชีวิตมาเทียบกัน เพื่อเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย

อันที่จริง มีการจดบันทึกระหว่างการผ่าศพก่อนยุคหมอมอร์กานญีนานแล้ว แต่ข้อมูลค่อนข้างกระจัดกระจายและไร้ระบบระเบียบ ตำราหลังจากยุคเขาจึงเข้มงวดมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญคือเกิดการจัดหมวดหมู่แยกโรคตามอวัยวะของร่างกาย รวมถึงทำดัชนีให้ง่ายต่อการค้นคว้า เช่น หมวดอาการ หรือความผิดปกติ หมวดอวัยวะ ฯลฯ

ตลอด 55 ปีที่หมอมอร์กานญีทำการผ่าศพแล้วศพเล่า และจดบันทึกข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้จากผู้ป่วยกว่า 700 ราย เขารวบรวมข้อมูลเป็นหนังสือชื่อ เด เซดิบุส ชื่อเต็มคือ ‘De Sedibus et causis morborum per anatomen indagatis' หรือแปลไทยได้ว่า "เข้าใจสาเหตุของโรคผ่านการศึกษากายวิภาค" บรรจุเนื้อหาที่ปฏิวัติวิธีคิดและการเรียนแพทย์ไปจากเดิมขนานใหญ่ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือทรงคุณค่าของวงการแพทย์ตะวันตกมากที่สุดชุดหนึ่ง (มีทั้งหมด 5 เล่ม ในชื่อเดียวกัน)

คุณูปการของหนังสือชุดนี้คือการอธิบายว่า อาการของโรคต่าง ๆ คือ "เสียงร้อง"จากอวัยวะที่กำลังส่ง "สัญญาณ" ของความช่วยเหลือ หมอมีหน้าที่ตามหาอวัยวะนั้นให้เจอ หรือหา "รอยโรค" ว่าอยู่ส่วนไหนของร่างกาย การพยายามเข้าใจสมดุลแห่งธาตุในร่างกายแบบที่เคยเชื่อกันมาเป็นพันปีจึงไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อการวินิจฉัยโรคอีกต่อไป

ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่าการค้นพบของของหมอมอร์กานญีสำคัญแค่ไหน ลองนึกถึงตอนป่วยแล้วไปพบแพทย์ แน่นอนว่าประโยคแรก ๆ ที่หมอจะถามย่อมหนีไม่พ้น "อาการเป็นอย่างไร" "เจ็บตรงไหน" หรือ "เป็นมานานแค่ไหน" นั่นแหละคือวิธีวินิจฉัยโรคที่เป็นมรดกจากหมอหนุ่มชาวอิตาลีคนนี้


เครดิตแหล่งข้อมูล : silpa-mag


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์