“วัณโรค” ภัยเงียบใกล้ตัว ที่เป็นได้ทุกคน


“วัณโรค” ภัยเงียบใกล้ตัว ที่เป็นได้ทุกคน


"วัณโรค" โรคติดต่อทางการหายใจ อันตรายกว่าที่คิด! จะมีวิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันได้อย่างไร? ไปดูกันเลย!

ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีการใส่แมสก์เป็นอวัยวะที่ 33 กันไปแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์โควิด - 19 คลี่คลายแล้ว หลายๆคนก็ไม่นิยมใส่แมสก์แล้ว ในวันนี้ ไบรท์ทูเดย์ (Bright Today) ขอพูดถึง วัณโรค (Tuberculosis:TB) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางการหายใจ เชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอดไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก ซึ่งอาจจะเกิดจากการไอ จาม หรือพูด ซึ่งละอองเสมหะเหล่านี้ สามารถมีชีวิตลอยอยู่ในอากาศหลายชั่วโมง และเมื่อมีผู้สูดเข้าไปจะเข้าไปจนถึงถุงลมปอด และเกิดการอักเสบได้

อาการเตือน วัณโรค

ไอติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์
น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
ไอหรือเสมหะมีเลือดปน
มีไข้เรื้อรัง มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
เหงื่อออกมาในตอนกลางคืน
อ่อนเพลีย
ผิวหนังซีด เหลือง

วัณโรคสามารถป้องกันได้ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ ใครมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะอาการไอ ที่นานมากกว่า 3 สัปดาห์ โดยอาการเริ่มต้นจะเริ่มไอแห้ง ๆ ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีเสมหะจนอาจไอเป็นเลือด ให้รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

อาการของผู้ป่วย วัณโรค

อาการวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยในระยะแรกจะสังเกตได้ยากเพราะอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปีกว่าจะแสดงอาการให้เห็น

ระยะแฝง (Latent TB) เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะยังไม่แสดงอาการใดๆ โดยเชื้อจะซ่อนอยู่ภายในร่างกาย จนกว่าร่างกายจะอ่อนแอ จะก่อให้เกิดอาการที่ชัดเจนได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการตรวจพบในช่วงระยะแฝง แพทย์จะรักษาโดยการควบคุมการแบ่งตัวของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ

ระยะแสดงอาการ (Active TB) ระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนทำให้แสดงอาการต่างๆ ได้ชัดเจน เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด หรือเบื่ออาหาร

วิธีป้องกัน วัณโรค

หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไปในสถานที่สาธารณะ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค หากตนเองมีภูมิต้านทานต่ำ
ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค
ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยควรตรวจเอกซเรย์ปอด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
รีบไปพบแพทย์ทันที หากสงสัยว่ามีอาการเสี่ยง

ข้อควรหลีกเลี่ยงเมื่อป่วยเป็นวัณโรค

งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

หลีกเลี่ยงการใช้ยาอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบจากการใช้ยา

หลีกเลี่ยงการเดินทางในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือการเดินทางด้วยยานพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานาน

หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนในระหว่างรักษาวัณโรค เพราะจะทำให้การคุมกำเนิดไม่ได้ผล

วัณโรคสามารถติดต่อได้ ยิ่งคนที่เป็นวัณโรคปอด ที่มีเชื้อเสมหะยิ่งติดต่อง่าย ดังนั้น เมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นวัณโรคหรือเสี่ยงวัณโรค ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะวัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยการกินยาให้ครบเป็นเวลา 6 - 8 เดือน


เครดิตแหล่งข้อมูล : โรงพยาบาล พญาไท


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์