ดอกไม้บาน ใน แอนตาร์กติกา หรือนี่คือ สัญญาณหายนะโลก!
ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซูเบรีย ในประเทศอิตาลี พบเรื่องที่อาจจะสื่อ
สัญญาณหายนะของโลก! หลัง มีพืชพื้นถิ่นของแอนตาร์กติกา 2 ชนิด คือ
หญ้าขนแอนตาร์กติก (Deschampsia Antarctica) และ เพิร์ลเวิร์ตแอนตาร์กติก (Antarctic Pearlwort) บนเกาะซิกนีย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับช่วง 50 ปีก่อนหน้านี้ (1960-2009)
จำนวนของพืชทั้งสองชนิดที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น จนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2012 รวมถึงศัตรูทางธรรมชาติอย่าง "แมวน้ำขน" (Fur Seals) มีจำนวนลดลงจนไม่มีใครคอยเหยียบย่ำส่งผลให้ต้นไม้ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
อุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกามีแนวโน้มที่จะขึ้นสูงและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องเมื่อปี 2565 พื้นที่แอนตาร์กติกาตะวันออกเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดจนถึงปัจจุบัน ทำให้อุ่นขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส จนนักวิจัยในพื้นที่สามารถสวมกางเกงขาสั้น และถอดเสื้อเพื่ออาบแดดได้
นิโคเล็ตตา แคนนอน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่า
"ถ้าหากพืชสามารถเติบโตได้ดีบนเกาะซิกนีย์ แสดงว่าพื้นที่อื่น ๆ ในทวีปแอนตาร์กติกาก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันหมายความว่าภูมิทัศน์และความหลากหลายทางชีวภาพของแอนตาร์กติกสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว"
ทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ขั้วโลกใต้ ได้ชื่อว่ามีอุณหภูมิต่ำที่สุดบนพื้นโลก -93.2 องศาเซลเซียส จึงเปรียบเสมือน‘ระบบแอร์โลก' โดยทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมให้กับโลกผ่านกระบวนการไหลเวียนของกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น
จากผลสำรวจดังกล่าวนักวิจัยคาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนจะสูงขึ้นอีกประมาณ 5 - 6 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ และส่งผลกระทบกระจายไปทั่วโลก