บรรยากาศ ปชช.แห่กางเต้นท์ดูฝนดาวตก200ดวงบนยอดดอยอิน
ภาพปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ถ่ายภาพโดยใช้เทคนิคตั้งกล้องถ่ายภาพแบบติดตามวัตถุท้องฟ้าด้วยขาตั้งกล้องโทรทรศน์แบบตามดาว วันที่ 14-15 ธันวาคม 2560 ตั้งแต่ช่วงเวลา 21.30 -01.00 น. ซึ่งคืนดังกล่าวมีจำนวนฝนดาวตกมากที่สุดช่วงเที่ยงคืนเป็นต้นไป โดยสามารถสังเกตเห็นไฟล์บอลจำนวนหลายลูกในช่วงเวลาดังกล่าว
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสดร.เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกเจมินิดส์ บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า เห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่าและเริ่มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณฝนดาวตกมากที่สุดตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงคืนเป็นต้นไป นับได้ประมาณ 200 ดวงต่อชั่วโมง
ดร. ศรัณย์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสดร. กับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์นำประชาชนและนักท่องเที่ยวกว่าร้อยคน ร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์บริเวณยอดดอยอินทนนท์ ท่ามกลางอากาศหนาว 9 องศาเซลเซียส ประชาชนที่ขึ้นไปร่วมชมฝนดาวตกต่างเตรียมอุปกรณ์กันหนาวกันแบบจัดเต็ม ทั้งเสื้อกันหนาว ถุงนอน หมอน ผ้าห่ม ฯลฯ สำหรับนอนรอชมฝนดาวตก ซึ่งนอกจากการนอนรอชมฝนดาวตกเจมินิดส์แล้ว สดร. ยังเตรียมกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ มากกว่าสิบตัว มาติดตั้งในบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้สังเกตวัตถุท้องฟ้า อาทิ เนบิวลาวงแหวน เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน กาแล็กซีแอนโดรเมดา และกระจุกดาวต่างๆ พร้อมเจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการดูดาวเบื้องต้น ทำให้การนอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์ในคืนนี้ ประชาชนต่างตื่นตาตื่นใจไปกับดาวตก และดาวที่ระยิบระยับเต็มฟ้าของยอดดอยอินทนนท์ที่นับได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีที่สุดในประเทศไทย
ขณะที่โรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. หลายจังหวัดได้ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์กันอย่างคึกคัก อาทิ โรงเรียนศรีสมบูรณ์วิทยา จ.ขอนแก่น โรงเรียนชานุมานวิทยาคม จ.อำนาจเจริญ โรงเรียนประทาย จ.นครราชสีมา โรงเรียนพระครูพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ โรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย จ.เชียงราย โรงเรียนโนนคำพิทยาคม จ.บึงกาฬ เป็นต้น
ส่วนในจังหวัดอื่น ๆ ได้รับแจ้งจากสมาชิกแฟนเพจของสถาบันฯ ว่า เห็นดาวตกในหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สระบุรี สุราษฎร์ธานี ชลบุรี อุตรดิตถ์ มุกดาหาร บุรีรัมย์ จันทบุรี พิษณุโลก นครพนม ตรัง ตราด กาฬสินธุ์ ประจวบคีรีขันธ์ กาจนบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สมุทรสาคร เป็นต้น แต่ปริมาณไม่มากนัก
สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากสายธารเศษฝุ่น ของแข็ง และน้ำแข็งจำนวนมาก ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200Phaeton) ตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า โดยจะปรากฏในช่วงระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคม ของทุกปี สำหรับในปีนี้ปรากฏให้เห็นมากที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2560